นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (20 ก.ค.2564) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 13 ก.ค. 64 ให้ครอบคลุมพื้นที่จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพิ่มเติมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยา โดยยังคงกลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบการใน 9 กลุ่มกิจการที่ได้รับผลกระทบ อัตราการจ่ายและวิธีการจ่ายเงินเช่นเดิม เป็นระยะเวลา 1 เดือน ได้แก่
1. กิจการก่อสร้าง
2. กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
3. กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ
4. กิจการบริการอื่น ๆ
5. สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า
6. สาขาการขายส่งและการขายปลีก
7. สาขาการซ่อมยานยนต์
8. สาขากิจกรรมการบริหารและสนับสนุนวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมวิชาการ
9. สาขาข้อมูลข่าวสารและการศึกษา
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม ดังนี้
กลุ่มแรงงานตามมาตรา 33
-จะได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโควิด19 ในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน
-จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม
ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง ม.33
-จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40
สัญชาติไทย
-ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน
-จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
-ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40
-สัญชาติไทย
-ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน ให้เตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 กับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564
-เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท ต่อคน จำนวน 1 เดือน