วันที่ 8 ก.ค. 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ข้อมูล ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 7 ก.ค. เป็นดังนี้
จำนวนผู้ได้รับวัคซีนวันที่ 7 ก.ค. 2564 จำนวน 291,575 โดส
• ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 248,933 ราย
• ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 42,642 ราย
จำนวนผู้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 7 ก.ค. 2564 (130 วัน) 11,619,618 โดส ในพื้นที่ 77 จังหวัด
• ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 8,494,230 ราย แบ่งเป็น ซิโนแวค 3,682,375 ราย แอสตราเซเนกา 4,651,088 ราย และซิโนฟาร์ม 160,767 ราย
• ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 3,125,388 ราย แบ่งเป็น ซิโนแวค 3,062,026 ราย แอสตราเซเนกา 62,875 ราย และซิโนฟาร์ม 487 ราย
•
ทางด้าน นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงผลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ค. 2564) จำนวนฉีดวัคซีนสะสม 10,777,748 โดส มีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงสะสม 1,310 ราย พิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วเสร็จ 398 ราย อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 913 ราย ดังนี้
• เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง 398 ราย
• เกี่ยวกับวัคซีน 67 ราย รักษาหายทุกราย ไม่มีการเสียชีวิต เกี่ยวกับการแพ้วัคซีน มีการช็อก ได้รับดูแลภายหลัง 30 นาที – 1 ชั่วโมง
• เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน 235 ราย เช่น อาการปวดบวม มีไข้ มีปฏิกิริยาหลังการฉีด
• เหตุการณ์ร่วมไม่เกี่ยวกับวัคซีน
– เจ็บป่วยรักษาหาย 29 ราย
– เสียชีวิต 58 ราย
• ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 9 ราย จะต้องมีการเก็บข้อมูลและสถิติเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาต่อไป
นายแพทย์เฉวตสรร ยืนยันว่าวัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ป้องการการตายและการป่วยรุนแรง จงมั่นใจและไปฉีดวัคซีนกัน ในส่วนของคำถามว่าเหตุใดจึงซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส เพราะมีประชาชนหลายคนไม่มั่นใจกันวัคซีนนี้แล้วนั้น เมื่อเวลาที่เราคัดเลือกวัคซีนมาใช้ ต้องแยกให้เห็นชัดเจน ผลการตีพิมพ์วิจัยจะมีตัวเลขหลายตัว การป้องกันการป่วยมีอาการน้อยๆ ซิโนแวคอาจจะเป็นตัวเลขที่ดูไม่สูงนัก 50% แต่การป้องกันการเสียชีวิตและการป่วยนอนโรงพยาบาล จากการวิจัยคือ 100% แต่เวลาใช้จริงก็ต้องดูด้วย ที่ผ่านเกรณฑ์องค์การอนามัยโลกก็รับรอง เพราะฉะนั้นการใช้งานอยู่หลายประเทศมาก จีนเองก็ใช้ แล้วเขาก็ควบคุมการระบาดได้ดี เวลามีการใช้งานในสภาพจริงก็มีการประเมินว่าวัคซีนออกฤทธิ์จริงๆ ได้ผลจริงหรือไม่
ทั้งนี้ ตัวเลขที่หลายคนติดตามข่าวก็อาจจะพอรู้ อินโดนีเซีย ซิโนแวคป้องกันการป่วยที่มีอาการตั้ง 94% ยังสูงอยู่เลย ที่ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล 96% ป้องกันการเสียชีวิต 98% ส่วนที่ชิลีป้องการการป่วยรุนแรง 89% บราซิล ป้องกันการป่วยมีอาการอยู่ที่ 80% ป้องกันการป่วยเข้าโรงพยาบาล 86% ป้องกันการเสียชีวิต 95% ส่วนประเทศไทย ที่เราทำภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ มีการประเมินป้องกันการติดเชื้อได้ 90.7% เชียงราย ที่เห็นมีข่าวบุคลากรการแพทย์ป่วยโควิดกัน ประเมินประสิทธิภาพออกมาแล้วอยู่ที่ 82%
“ต้องเรียนว่าวัคซีนซิโนแวคยังเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลได้ดีในตอนนี้ ถึงแม้ว่าเชื้อที่ติดอยู่ตอนนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่สายพันธุ์อัลฟา หรือที่เราคุ้นชื่อกันดีสายพันธุ์ของอังกฤษ เพราะฉะนั้นวัคซีนยังมีประสิทธิผลดีอยู่ ในอนาคตถ้าสายพันธุ์ใหม่เปลี่ยนแปลง ตัวเลขเปลี่ยนก็ว่ากันอีกที แต่ที่สำคัญวัคซีนซิโนแวคหาซื้อตอนนี้แล้วส่งมาได้ทัน ตัวอื่นอาจจะต้องรอ แล้วเราจะให้ได้ 70% โอกาสจะสำเร็จอย่างนั้นก็อาจจะยังไม่ได้วัคซีนแล้วต้องรอไปอีกนาน”