ผศ.ดร.ณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เร่งระบายน้ำว่า น้ำเต็มอ่างฯป่าสัก บริหารผิดพลาดจริงหรือ??? และชุมชนที่เสี่ยงน้ำท่วมตามแนวลำน้ำเจ้าพระยามีที่ไหนบ้าง
โดยผศ.ดร.ณัฐ ระบุว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 785 ล้านลูกบาศก์เมตร และที่ระดับสูงสุด 960 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 2,239 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเกือบ 3 เท่า ของปริมาณเก็บกักปกติ จึงทำให้ในรอบ 12 ปี ที่ผ่านมามีน้ำเต็มสูงกว่าระดับเก็บกักสูงสุดถึง 5 ปี ได้แก่ ปี พ.ศ. 2560 2559 2556 2554 และ 2553 ซึ่งจะเห็นว่าเกิดขึ้นเป็นประจำดังนั้น ในปีนี้2564 เป็นปีที่ปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย จึงทำให้อ่างฯป่าสัก มีน้ำเต็มอ่าง จึงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้และไม่ผิดปกติแต่อย่างใด
ผศ.ดร.ณัฐ ยังระบุถึง ชุมชนที่เสี่ยงน้ำท่วมตามแนวลำน้ำเจ้าพระยามีทั้งหมด 14 พื้นที่ โดยตั้งแต่จังหวัดชัยนาทถึงอ่างทาง ถ้าน้ำมากกว่า 2,300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเริ่มมีปัญหาน้ำท่วม ขณะที่บริเวณ อำเภอบางบาล อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา เสี่ยงน้ำท่วมตั้งแต่ 700-1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งวันนี้น้ำที่สถานี C.13 มีอัตราการไหลเกือบคงที่เท่ากับ 2,775 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้เกิดผลกระทบกับชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่จังหวัดชัยนาทจนถึงอยุธยา ซึ่งจะต้องอพยพประชาชนและเก็บสิ่งของขึ้นที่สูงเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่กำลังไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง
อย่างไรก็ดีขณะนีน้ำในแม่น้ำปิงที่ไหลลงมารวมกันกับแม่น้ำน่านที่ จังหวัดนครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน และน้ำจากแม่น้ำน่านที่อำเภอชุมแสง ใกล้จะถึงจุดสูงสุดภายใน 1-2 วันนี้ดังนั้นน้ำจากภาคเหนือที่จะไหลลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจะเข้าสู่จุดสูงสุดภายในวันนี้ ซึ่งจะทำให้น้ำที่จะระบายลงสู่ลำน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเริ่มลดลงภายใน 2-3 วันนี้ ซึ่งจะทำให้การเกิดน้ำท่วมตามแนวลำน้ำเจ้าพระยาที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ แต่จะท่วมไม่นานจะเริ่มลดลง ซึ่งปีนี้น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาน้อยกว่าปี 54 แต่น้ำที่ปล่อยท้ายเขื่อนมากกว่า ชุมชนด้านท้ายเขื่อนจะต้องระวัง แต่ยังคงย้ำเช่นเดิมว่า น้ำยังน้อยกว่าปี 54 มาก จะไม่มีน้ำบ่าตามทุ่งจำนวนมากแล้วไหลลงตอนล่างท่วมกรุงเทพเหมือนปี 54