นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ฝนที่ตกลงมาไม่ได้ตกมาหน้าเขื่อน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทำให้ 4 เขื่อนหลักมีน้ำใช้การประมาณ 5,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมาณฑลจะเอาอยู่หรือไม่นั้น หากเราจะเปรียบเทียบกับ 2554 เงื่อนไขปีนี้กับปี 2554 แตกต่างกัน เพราะ 1. ปี 2554 เรามีพายุ 5 ลูก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของเราเต็มความจุของเขื่อน แต่วันนี้ 4 เขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีก 12,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร 2.สถานีวัดน้ำ C 2 ที่จังหวัดนครสวรรค์ วันนี้เรามีปริมาณน้ำ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปี 2554 เรามีน้ำ 3,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร และที่สถานีวัดน้ำบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปี 2554 เราวัดปริมาณน้ำได้ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่วันนี้เรามีปริมาณน้ำเฉลี่ย 2100 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมินั้น อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์ที่นครราชสีมาบริเวณลุ่มน้ำลำเชียงไกร เราพยายามให้เข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7 วัน ส่วนประเด็นอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรแตกหรือไม่นั้น ตนชี้แจงว่าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรเป็นพื้นที่ก่อสร้าง ยังสร้างไม่เสร็จ และจุดที่แตกหรือขาดไปคือ ทำนบดินชั่วคราว ส่วนสถานการณ์ที่จังหวัดชัยภูมินั้น จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าอีก 10 วัน จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเราพยายามต้อนน้ำให้ลงสู่แม่น้ำชี และไหลต่อไปยังแม่น้ำมูล ก่อนลงแม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานีเริ่มมีปริมาณปริ่มๆ แนวโน้มคาดว่าจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตามวันที่ 8 ถึง10 ตุลาคม จะมีฝนตก ก็ต้องเฝ้าระวัง