“หมอประสิทธิ์” ชี้ตัวเลขติดเชื้อโควิดยังแกว่ง เผยหากร่วมมือตามมาตรการ หลังต.ค.เราจะเห็นตัวเลขสวยๆ

"หมอประสิทธิ์" ชี้ตัวเลขติดเชื้อโควิดยังแกว่ง เผยหากร่วมมือตามมาตรการ หลังต.ค.เราจะเห็นตัวเลขสวยๆ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า จากการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ผ่านมา 2 สัปดาห์ พบว่ามาตรการต่างๆ ทำได้ดีทั้ง 3 ด้านคือ 1.มาตรการวัคซีนที่ทำได้ดี ไม่หลุดเป้าหมายการฉีดวันละ 4 แสนโดส 2.มาตรการบุคคล การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ก็ทำได้ดี และ 3.มาตรการสังคมและการบริหาร จะพบว่าสามารถดำเนินการได้ดี มีการผ่อนคลายมาตรการบ้าง เช่น การนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ 50% แต่ก็เห็นได้ว่าหลายๆ ร้านอาจไม่ได้ทำตามที่ตกลง ซึ่งเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก จึงขอให้ประชาชนที่ร่วมใจกันทำดีมาตลอดให้ทำดีต่อไป อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และก็อยากขอให้ทุกคนร่วมใจกันเฝ้าระวังต่อไปอีกสัก 1 เดือน เพราะตัวเลขจะแกว่งในระดับ 10,000 ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง แต่ถ้ามาตรการวัคซีน บุคคล และสังคมยังทำได้ดีต่อเนื่อง เราจะเห็นตัวเลขสวยๆ ได้ โดยให้ผ่านพ้นเดือนตุลาคมไปก่อน ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ เราจะมีวัคซีนโควิด-19 เข้ามามากขึ้น คาดว่าถึง 20 ล้านโดส ดังนั้น ณ วันนี้ที่เราฉีดวัคซีนกันมากกว่า 40 ล้านโดสแล้ว เมื่อรวมกับเดือนหน้าที่เราจะฉีดได้มากขึ้น ก็ทำให้สบายใจได้ แต่ก็ยังไม่สามารถผ่อนมาตรการป้องกันตัวเองลงได้

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า ยังต้องเร่งมาตรการวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งจากการติดตามตัวเลขในประเทศที่เข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สูงถึง ร้อยละ 70 ของประชากร และเข็มที่ 2 ถึง ร้อยละ 60 เป็นตัวเลขใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ว่าเข็มที่ 1 สูง ร้อยละ 70 แต่ฉีดเข็มที่ 2 ได้แค่ ร้อยละ 20 แบบนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่ภาวะปกติได้ เพราะเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า วัคซีนเข็มเดียวเอาไม่อยู่ ต้อง 2 เข็ม ดังนั้นสถานการณ์ปกติของไทยยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ ใจผมยังอยากให้เฝ้าระวังต่อเนื่องอีก 1 เดือนเป็นอย่างน้อย

ส่วนที่หลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดรอบ 5 แล้ว ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องบอกว่าการประเมินสถานการณ์โรคโควิด-19 ต้องดูจากข้อมูลจริง ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก ตนดูข้อมูลมาตลอด ไม่จำเป็นต้องปิดบังข้อมูล โดยเฉพาะตัวเลขการติดเชื้อใหม่ที่เห็นได้ว่าลดลงต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงการตรวจพบเชื้อ แต่เป็นจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลบุษราคัม ก่อนหน้านี้เคยเปิดถึง 3,000 เตียง แต่ขณะนี้เหลือไม่ถึง 100 เตียง ก็เป็นข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น ถ้าจะบอกว่าเข้าระบาดรอบ 5 ก็จะย้อนแย้งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาที่แพร่เชื้อเร็ว หรือรุนแรงกว่าเดิม