วันที่ 21 มิถุนายน 2564 เป็นการเปิดใจครั้งแรก ไอซ์ ณพัชรินทร์ และ แบงค์ อธิกิตติ์ ลูกสาวและลูกเขยของ น้าค่อม ชวนชื่น เผยความรู้สึกวินาทีที่สูญเสียคุณพ่อด้วย โควิด-19 ในรายการ “คุยแซ่บSHOW” ที่มี “พีเค” ปิยะวัฒน์ และ “บูม” สุภาพร เป็นพิธีกรดำเนินรายการ
ณ ตอนนี้ที่บ้านเป็นยังไงบ้าง ความรู้สึกของคนที่บ้าน ?
ไอซ์ : คุณแม่ยังทุกข์อยู่ ทุกข์เป็นช่วงๆ แต่เราสังเกตได้ว่าคุณแม่พยายามทำตัวเองให้เข้มแข็ง
แบงค์ : ไอซ์และแม่เอ๋เป็นผู้หญิงที่ผมรู้สึกว่าเข้มแข็งมาก เพราะว่ารอบๆเขามีลูกหลานอยู่ด้วย และเจ้าตัวก็เข้มแข็งด้วย คือทุกวันนี้ดูเหมือนปกติ ไม่เหมือนมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นร้ายแรง
ไอซ์ : ไอซ์ว่าเราจะต้องพยายามเข้มแข็งให้เร็วที่สุด เหมือนแม่ต้องพึ่งเราอะไรแบบนี้ค่ะ สมมุติเราอ่อนแอ เขาก็จะเหมือนแบบอ่อนแอตามเราไปด้วย
แบงค์ : คือผมเห็นเขาร้องไห้ครั้งเดียวคือวันเผาคุณพ่อ แค่ผมพูดว่า อย่าร้องไห้นะ อย่าทำให้พ่อเป็นห่วงนะ หลังจากนั้นเขาก็เข้มแข็งขึ้นมาก ผมไม่เคยเห็นเขาร้องไห้ต่อหน้าผมอีกเลย
ตอนนั้น 12 เม.ย. ติดเชื้อโควิดวันที่ 13 เม.ย. น้าค่อมเข้าโรงพยาบาล ตอนนั้นเป็นอย่างไร ?
ไอซ์ : คือไอซ์จะอยู่คนละบ้านกับคุณพ่อ วันนั้นก็จะมีคุณแม่ถ้าได้เห็นคลิปก็จะเป็นคุณแม่ถ่าย น้องถ่าย ก่อนที่คุณพ่อจะเข้าโรงพยาบาล วันที่ 13 เม.ย. ก็ส่งคุณพ่อกัน ซึ่งในถุงก็จะมีอาหารที่คุณพ่อชอบทาน เขาก็ยังดูปกติ คุยกันปกติสนุกสนาน ตอบโต้กันปกติ
พอหลังจากคุณพ่อเข้า รพ. ทั้งไอซ์และคุณแบงค์ก็ไม่มีโอกาสได้เจอคุณพ่อนะสิ ?
ไอซ์ : ใช่ค่ะ คือปกติคุณพ่อเขาจะไม่เล่นโซเชียล เขาจะไม่มีไลน์ไม่มีช่องทางโซเชียลเลย แต่เราให้น้องได้สอนเขาเล่นเฟซไทม์ และไอซ์ได้เฟซไทม์หาเขาตอนถึง รพ. พอถึงปุ๊ปไอซ์ก็ถามเขาเลยเป็นไง เขาก็ยังคุยกับเราปกติ พ่ออยู่ห้องแล้วนะ ห้องโอเคนะ ไม่ต้องห่วงนะดูแม่ไป ดูน้องไป
ตอนนั้นเป็นห่วงไหม คุณพ่อเรามีโรคประจำตัวอยู่ด้วย ?
ไอซ์ : ห่วงมาก
ตอนนั้นเราคิดมั้ยว่าผลมันจะร้ายแรงขนาดนี้ ?
ไอซ์ : ไม่คิดเลยค่ะ ไม่คิดเพราะว่าคือเราอะจะคุยกันทั้งวันแม่โทร น้องโทร เราโทร พ่อก็จะบอกว่า พ่อไม่เป็นไร แต่เราอะคอยกังวลเรื่องปอดเขา แต่คุณพ่อไอซ์ไม่ได้สูบบุหรี่ไม่ได้ดื่มเหล้า เราก็กังวลกึ่งไม่กังวล เพราะเรามีความคิดตื้นๆว่าเขาไม่ได้ทำอะไรพวกนี้จะทำให้ปอดเขาไม่น่าจะเป็นปัญหา ก็ยังมีความหวังว่าพ่อจะหาย ยังบอกเขาเลยว่าไม่กี่วันก็หาย แต่มันเกิดเหตุการณ์ว่าปอดของคุณพ่อมีปัญหา เราก็ทำอะไรไม่ถูก
วันสุดท้ายที่ไอซ์ได้เจอน้าค่อมคือวันไหน ?
ไอซ์ : ไอซ์เจอคุณพ่อวันที่เราไปตรวจโควิดกัน วันที่ 11 เม.ย. 12 เม.ย. ผลออก 13 เม.ย. รถโรงพยาบาลมารับ คือวันที่ 11 เรายังมีถ่ายคลิปร่วมกันอยู่เลยว่าเราไปตรวจโควิดกัน แล้วหลังจากนั้นเราก็ยังเฟซไทม์คุยกับเขา เราได้คุย เราได้อยู่ แต่คืออาการคุณพ่อคือปกติเลย ไม่มีอาการอะไรเลยคือคุณพ่อจะเป็นโรคเบาหวาน เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ และเป็นความดัน ซึ่งคุณหมอก็เป็นคุณหมอที่ดูแลเขา เขาก็เลยรู้สึกโล่งใจที่อยู่ใกล้หมอที่ดูแลเขาตลอด ส่วนที่ต้องย้ายโรงพยาบาล เพราะที่โรงพยาบาลแรกคุณพ่อเกิดอาการฝ้าที่ปอดหนา
แบงค์ : คือต้องบอกตรงนี้เป็นเรื่องของเครื่องมือ เพราะแต่ละโรงพยาบาลมีเครื่องมือไม่เหมือนกัน อย่างโรงพยาบาลที่เราไปหาอาจจะเป็นโรงพยาบาลขั้นปฐมภูมิ คือเป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือรักษาระดับประมาณหนึ่ง พอเป็นทุติยภูมิก็จะมีเครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งมันจะส่งต่อโรงพยาบาลกันไป ซึ่งคุณพ่อจะต้องฟอกไต จะต้องทำอะไรให้มันดีขึ้นทีนี้ก็คือต้องย้ายโรงพยาบาลเราก็ยังงงกันอยู่ เพราะคุณพ่อดูปกติมากๆ ไม่มีอาการใดๆ แต่พอเข้าโรงพยาบาล 2 ต้องเข้าไอซียูเลย
รู้เมื่อไหร่หลังจากวันแรกที่วิดีโอคอลเฟซไทม์กัน พ่อก็ดูแฮปปี้มีความสุขดี แล้วจู่ๆพ่อมาปอดอักเสบหลังจากที่ทราบคือเข้า รพ.ไปกี่วัน ?
ไอซ์ : อาจจะประมาณสัก 4 วันที่พ่ออยู่ รพ.แรก และเขาก็ทำการย้าย รพ.ทันที
ทราบว่าพอย้ายโรงพยาบาลน้าค่อมเริ่มดื้อ ?
ไอซ์ : ใช่ เพราะโรงพยาบาลสอง(เสี่ยงสั่น)
แบงค์ :คือโรงพยาบาลแรกเครื่องมืออาจจะน้อย นอนอยู่บนเตียง กินยา ให้น้ำเกลือ แต่พอเข้าโรงพยาบาลสองก็เริ่มมีขั้นตอนใส่สายยาง ใส่ท่อต่างๆ แล้วแกเป็นคนขี้รำคาญ ที่สำคัญที่แกงอแง คือคนปกติถ้าต้องไปนอนโรงพยาบาลเป็น 10 วัน ก็คงนั่งเล่นมือถือดูโซเชียล แต่เนื่องจากคุณพ่อไม่เล่นโซเชียลไม่เล่นมือถือแล้วห้องในโรงพยาบาลไม่มีทีวีให้ดู คือผมเข้าใจเลยว่าแกคงเบื่อ เพราะมันทำให้เวลามันผ่านไปช้ามาก
อะไรที่ทำให้แกเปลี่ยน ?
ไอซ์ : ช่วงที่คุณพ่องอแง วันสองวันแรกก็จะเป็นช่วงที่เรายังคุยกับท่านได้อยู่ ซึ่งเป็นช่วงที่ประจวบเหมาะกับที่ครบ 7 วันที่เราไปตรวจโควิดอีกรอบ ผลโควิดออกมาคือคุณแม่ติด เราก็พาคุณแม่เข้าโรงพยาบาลเดียวกับคุณพ่อ เราก็บอกว่าคุณพ่ออย่าดื้อนะ ให้กินยานะ เพราะแม่อยู่ที่เดียวกับพ่อ อย่าให้เป็นห่วงกันและกัน พ่อก็ดูแลตัวเองดีดีอย่าดื้อกับหมอนะ
จากโรงพยาบาลสอง เราก็ย้ายพ่อย้ายมาโรงพยาบาลที่สามตอนนั้นใครตัดสินใจ ?
แบงค์ : คือเราคุยกับคุณหมอตลอด อย่างที่ผมอธิบายตอนแรกว่าโรงพยาบาลปฐมภูมิที่เรารักษาเขาไม่มีเครื่องมือตัวนี้เราก็เลยย้ายมาโรงพยาบาลที่สอง พอโรงพยาบาลที่สองไม่มีเครื่องมืออีกตัวหนึ่งเราก็ต้องย้ายโรงพยาบาลซี่งเป็นขั้นตอนปกติ เราก็ได้คุยกับคุณหมอว่า เราสามารถทำทรานเฟอร์ไปโรงพยาบาลอื่นได้ไหม ณ ตอนนั้นกว่าจะย้ายได้เราทำเรื่องเป็นอาทิตย์เพราะเราทำเรื่องไปหลายโรงพยาบาลมาก แต่ไม่มีที่ไหนมีเตียงเลยเป็นจังหวะที่บีบหัวใจมากคุณหมอบอกว่ามันมีเครื่องอยู่ตัวหนึ่งชื่อเครื่องเอ็กซ์โม่ มันเป็นเครื่องที่จะอยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นของรัฐสะส่วนใหญ่ รัฐที่ใหญ่ๆ อย่างรามาฯ ศิริราช จุฬาฯ ซึ่งทั้ง 3 โรงพยาบาลเตียงแน่นมากๆ ไม่สามารถจริงๆ จนสุดท้าย เรามาได้โรงพยาบาลรามาจักรีนฤบดินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่สมุทรปราการ ไม่ใช่ในเมืองนะคะ
เคลียร์ข่าวเรื่องที่เป็นดาราเลยใช้เส้นสาย ?
ไอซ์ : ไอซ์ทำตามระเบียบการรีเฟอร์คุณพ่อทุกขั้นตอน ก่อนหน้านี้ ขออีกโรงพยาบาลหนึ่งไป ขอไปหลายวันก็ไม่ได้ ไอซ์ก็เลยมาอัดคลิปขอความช่วยเหลือ ก็มีคนส่งข้อมูลมาให้เราเยอะมาก ไอซ์ก็ขอบคุณ แต่มันก็ไม่ได้เหมือนเดิม ซึ่งไอซ์ก็ต้องรอให้โรงพยาบาลอื่นตอบรับกลับมา
ตอนย้ายโรงพยาบาลจาก รพ.2 ไป รพ.3 เรามีความหวังแค่ไหน ?
ไอซ์ : คือไอซ์หวังมาตลอด หวังให้อาการที่ไม่ดีกลับมาดีเหมือนเดิม หนูหวังตลอด หนูหวังทุกวัน ถ้าเราไม่หวังก็เหมือนเรายอมแพ้
แบงค์ : ต้องบอกก่อนว่าเราไม่เคยยอมแพ้เลยแม้แต่วันเดียว เราไม่เคยนั่งเฉยๆ ไม่เคยนั่งรอให้อาการมันดีขึ้น เราพยายามคุยกับคุณหมอตลอด เพิ่มรายละเอียดตลอด พยายามหาข้อมูล
พอย้ายไป รพ.3 มีคำพูดที่คุณหมอพูดมา ทำเอาลูกๆเข่าทรุดเลยคือ ?
ไอซ์ : คุณหมอบอกว่าจะปั้ม หรือว่าไม่ปั้ม อะไรแบบนี้ค่ะ
หมอได้บอกเหตุผลไหมว่ามันต้องถึงขั้นปั๊มหัวใจแล้วนะ ?
แบงค์ : คือพอย้ายไปโรงพยาบาลที่สามอวัยวะต่างๆ ก็ค่อนข้างแย่ ล้มเหลวไปหลายอวัยวะไม่ว่าจะเป็นปอด ไต ตับ ซึ่งคุณหมอบอกว่า ณ ตอนนั้นเหลือแค่หัวใจอย่างเดียว ถ้าถึงจุดที่หัวใจไม่ไหวแล้วทางญาติจะให้ปั๊มหัวใจขึ้นมาไหม
ตอนนั้นลูกว่าไง ?
ไอซ์ : คือเราก็ 50/50 คือใจอยากให้ปั๊มมาก แต่ว่าคิดกลับกัน เราปั๊มเขาฟื้น เราสบายใจ แต่เขาไม่เหมือนเดิม คนที่ทุกข์ทรมานก็คือเขา อาจจะต้องนอนติดเตียงซึ่งทรมานหนักกว่าเดิมสำหรับเขา กับการที่เราไม่ปั๊ม มันบอกไม่ถูกเลย มันตื้อไปหมด แล้วเราก็ปรึกษากับทางบ้านซึ่งทุกคนก็บอกว่าไม่ปั๊มดีกว่า เราได้ปรึกษาทุกคนทุกคนก็ออกความเห็นเหมือนกันเลยว่าไม่ปั๊ม
แบงค์ : คือมีคำตอบหนึ่งที่คุณหมอบอกกับเราว่า คุณหมอไม่การันตีเลยว่า ปั๊มแล้ว คุณพ่อจะฟื้นขึ้นมาอีก ไม่ใช่ปั๊มแล้วหัวใจจะกลับมา ให้คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัวทรมานในวาระสุดท้ายดีกว่า
นาทีที่คุณพ่อได้จากไปตอนนั้นกี่โมง ?
ไอซ์ : คือก่อนคุณพ่อจะเสีย โรงพยาบาลจะโทรมาเป็นสเตป โทรมาเที่ยงคืน ตีสอง
แบงค์ : ประมาณเที่ยงคืนก็จะมีคุณหมอที่ดูแลคุณพ่อมาอัปเดตว่าจากเราคุยกัน ว่าจะไม่ปั๊มหัวใจ ดังนั้นอาการหัวใจตอนนี้จากร้อยเปอร์เซ็นต์ก็เหลือแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ก็ค่อนข้างแย่แล้ว คุณหมอบอกว่าถ้าผ่านไปได้ก็ผ่านไป แต่ถ้าผ่านไม่ได้ก็อาการก็น่าจะหนักขึ้น สุดท้ายพวกเราก็พยายามจะนอน แต่ก็ไม่ได้นอนกัน เพราะช่วงตี 4 ทางโรงพยาบาลก็โทรเข้ามา ณ เวลานั้นมันไม่มีใครมาอัปเดตเรื่องดีๆ หรอก คุณหมอก็บอกว่าคนไข้ไปแล้วนะครับ ถามว่าผมบอกไอซ์อย่างไร ผมว่าไอซ์รู้อยู่แล้วเพราะเขาอยู่ข้างเรา
พอทราบข่าวคุณพ่อเสียวันรุ่งขึ้นต้องทำอะไรบ้าง ?
ไอซ์ : ไอซ์ทำอะไรไม่เป็นเลย แต่เราก็ต้องทำเพราะเหลืออยู่แค่ 2 คน เพราะน้องชายก็ต้องกักตัว คุณแม่ก็ติดโควิด เราก็จับมือกันแล้วก็ไปโรงพยาบาล ซึ่งบุคลากรที่โรงพยาบาลรามาฯก็น่ารักมาก พาเราไปทำตามสเตปทุกขั้นตอน ก็ถือว่าผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งมันทรมานมาก
แล้วงานศพช่วงนั้นจัดอย่างไร ?
แบงค์ : เขาห้ามคนมาร่วมงานเกิน 20 คน เราก็ต้องเอาคนที่สะดวกจริงๆ และคนต้องไม่เกินแล้วก็ต้องจัดการเท่าที่จะทำได้ เพราะว่ามันไวมาก ผมแจ้งใครก็ไม่ทัน
ไอซ์ : ตอนที่เผาศพเราก็มีวิดีโอคอลให้คนในครอบครัวดู ให้น้าๆ ทำ เพื่อส่งคุณพ่อ
มีกระแสดราม่าเรื่องเกาะคุณพ่อค่อมกิน เห็นแบบนี้รู้สึกอย่างไร?
ไอซ์ : พ่อเสียแล้วทำไมต้องขยี้กันอีก มาซ้ำกันอีก ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรเพราะเราก็ไม่ได้ตอบ แต่พอมีหนึ่งคนจุดประเด็นมา ว่าพ่อเสียแล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้ ให้คุณแม่ใช้เงินระวัง ๆ นะ ระวังเงินกงสีหมด คือมาว่าเราเรื่องนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าทำไมยังคิดว่าเรายังเกาะพ่อเกาะแม่กินอยู่ คือคนที่แต่งงานแล้ว มีลูกมีสามีแล้ว ก็ต้องทำมาหากินได้ในระดับหนึ่งแล้วหรือเปล่า แต่เราก็ไม่ได้ตอบอะไร
ขอบคุณ : คุยแซ่บโชว์