ศธ.เผยพร้อมเปิดภาคเรียน แบบปลอดภัย เปิดแผนฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์” ให้กับเด็กถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีการแถลงข่าว “เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 สถานศึกษาปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนถ้วนหน้า” โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธี มี ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย และ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว

S 115957792

นางสาวตรีนุช กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธาน ว่า ศธ. ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิดและมีการถอดบทเรียนจากการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ หรือ 5 On ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการเปิดภาคเรียนต่อไปให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากการหารือร่วมกันระหว่าง ศธ. กับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เบื้องต้นมีแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ได้แก่ 1.แผนการฉีดวัคซีน Pfizer 2 เข็ม แก่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 12 ปี จนถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด โดยจะอนุโลมให้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย ซึ่งจะครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือ เทียบเท่า รวมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี โดยในเดือนตุลาคมเป็นต้นไปจะเริ่มฉีดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน แต่ตั้งเป้าหมายให้นักเรียน นักศึกษาทุกคน ได้รับวัคซีน Pfizer เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน ซึ่งที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็น ประธาน ได้อนุมัติในหลักการให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษาทุกสังกัด กว่า 4.5 ล้านคน ทั้ง ศธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร

S 115957794

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า 2.แผนการดำเนินโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS) ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ. ในการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียน ที่จะประสงค์เข้าโครงการว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่ ทั้งนี้ การเป็น โรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. เป็นโรงเรียนประจำ 2. เป็นไปตามความสมัครใจและ 3. ผ่านการประเมินความพร้อม โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านต้นสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครองและผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดให้มี Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจ ราชการของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงมีการรายงานผล ผ่าน MOE COVID และ Thai Stop Covid Plus ซึ่งในข​ณะนี้ มีสถานศึกษาจำนวน 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษาจำนวน 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง ซึ่ง ศธ. จะพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษาสำหรับการเปิดภาคเรียนตามบริบทที่เหมาะสม

S 115957795

“ ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา เป็นอันดับแรก โดยได้ปรึกษาและประสานงานกับ สธ.ให้เข้ามาช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน โดย กระทรวงฯ จะเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รวมถึงวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีน สำหรับการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้มีครูได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 70% โดยแผนการจัดสรรวัคซีนในเดือนตุลาคมนี้จะให้สถานศึกษาส่งรายชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยัง ไม่ได้รับวัคซีนมาด้วย เพื่อเร่งจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มครู” รมว.ศธ.กล่าว.